Pages

Monday, September 14, 2020

ร้านกาแฟอยู่ยาก คนเมืองผันตัวเป็นบาริสต้าจำเป็นยุค ศก.ทรุด - ไทยรัฐ

santalimadua.blogspot.com
  • ร้านแฟรนไชส์กาแฟยักษ์ใหญ่เจ็บหนักต้องหาทางอยู่รอดในยุคโควิด หลังยอดขายลดฮวบกว่าหมื่นล้านเร่งปรับตัวสู้โควิด คาดยอดขายไม่ดีขึ้นจนสิ้นปี
  • นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตผู้บริโภคตัดรายจ่ายค่ากาแฟหลังมีจำนวนผู้ตกงานเพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจโลกดิ่งลงเหว
  • ร้านกาแฟขนาดเล็กปรับโมเดลธุรกิจขายสินค้าเพิ่มหน้าร้าน ห้างค้าปลีกขายเครื่องบดกาแฟได้ถล่มทลาย ผู้บริโภคผันตัวเป็นบาริสต้าจำเป็น

ความนิยมในร้านกาแฟ มีจุดเริ่มต้นมาจากร้านกาแฟเล็กๆ ใน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ถูกยกให้เป็น Public Sphere หรือพื้นที่สาธารณะโดย เยอร์เกน ฮาบามาส นักปรัชญาชื่อดัง เปรียบเทียบว่าร้านกาแฟเปรียบเสมือนศูนย์รวมการถกเถียงปัญหาสังคม และเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดทางการเมืองของผู้คนในศตวรรษที่สิบแปด หลังจากนั้นรสชาติของเครื่องดื่มสีดำที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ผู้คนทั่วโลกนิยมมากเป็นอันดับสองรองจากน้ำดื่ม ซึ่งในแต่ละมุมโลกมีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ (Coffee Culture) ที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ส่งผลให้คาเฟ่เล็กๆ ตกแต่งสวยงาม ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

แต่ตลาดกาแฟทั่วโลกต้องหยุกชะงักในยุคโควิด-19 หลังจากหลายประเทศต้องประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ร้านกาแฟต้องปิดชั่วคราวไม่เว้นแม้แต่แฟรนไชส์กาแฟขนาดใหญ่ ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ยังพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในร้านกาแฟ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าชีวิตวิถีใหม่ หรือ นิวนอร์มอล ผู้บริโภคจะยังคงสนิทใจที่จะเดินเข้าไปจิบกาแฟซึมซับบรรยากาศพร้อมกับจ่ายค่ากาแฟเฉลี่ย 100 บาทต่อแก้วในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำอยู่อีกหรือไม่

โควิดกระทบแฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่ คาเฟ่ขนาดเล็กอยู่ไม่รอด

Starbucks แฟรนไชส์ร้านกาแฟชื่อดังสัญชาติอเมริกัน คาดว่ายอดขายของบริษัทในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาลดลงถึง 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 68,794 ล้านบาท และจะปรับตัวลดลงในระยะเวลา 18 เดือนหลังจากนี้ โดย Starbucks เตรียมปิดร้านกาแฟ 400 สาขาในสหรัฐฯ อย่างถาวรพร้อมทั้งลดจำนวนสาขาที่เตรียมเปิดใหม่ลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่สาขาในจีนอาจต้องเผชิญกับยอดขายที่ตกลงร้อยละ 20

ขณะที่อุตสาหกรรมกาแฟในสหราชอาณาจักร ที่มีมูลค่าพุ่งสูงถึงกว่าพันล้านปอนด์หรือมากกว่า 4 หมื่นล้านบาทต้องหยุกชะงัก โดยในเดือน มีนาคม ร้านกาแฟในอังกฤษถึงร้อยละ 92 ต้องปิดทำการชั่วคราว พร้อมทั้งหาทางอยู่รอดด้วยการเปลี่ยนโมเดลการขาย ให้ร้อยละ 70 เป็นขายเป็นแบบสั่งกลับบ้านเท่านั้น ขณะที่บางส่วนปรับเวลาเปิดทำการและลดความหลากหลายของเมนูลง อีกทั้งยังต้องปรับตัวไม่รับเงินสดเพื่อลดการสัมผัสอีกด้วย

ส่วน Costa แฟรนไชส์ร้านกาแฟชื่อดังต้องลดพนักงานลง 1,500 คนเพื่อความอยู่รอด ขณะที่ Pret A Manger ปรับลดพนักงาน 3,000 คน และปิดสาขา 30 สาขา นอกจากนี้ร้านกาแฟขนาดเล็กใน กรุงลอนดอน ชี้ว่าจำนวนลูกค้าได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ร้านกาแฟหลายแห่งยังคงหวังพึ่งการขายแบบสั่งกลับบ้านแต่ผลสำรวจจากบริษัท คันทาร์ บริษัทวิจัยชั้นนำ ชี้ว่ายอดการซื้อกาแฟยังคงลดลงมากถึงร้อยละ 90 ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ปลดล็อกดาวน์ยอดขายไม่กระเตื้อง

ความอยู่รอดของร้านกาแฟนั้นเกี่ยวพันกับสังคมเมืองและผู้คนทำงาน ซึ่งแม้ว่าภายหลังหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยอดขายไม่กลับมาเป็นเช่นเดิม อีกทั้งยังพบว่าชาวอังกฤษดื่มเครื่องดื่มร้อนลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 

แม้ว่าร้านกาแฟหลายแห่งจะกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่ยังมีอีกหลายร้านที่เจ็บหนักและต้องปิดตัวลงในที่สุด โดยนางลูซีย์ สแตนตัน หัวหน้าค้าปลีกจากบริษัท โลคอล ดาต้า คอมพานี (LDC) ให้ความเห็นว่า แม้จะยังฟันธงไม่ได้ว่ายอดขายเครื่องดื่มจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจทรุดหนัก กาแฟแก้วหนึ่งที่มีราคาอยู่ราวหนึ่งร้อยบาท เป็นสิ่งที่ผู้คนสามารถตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ออกไปได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีผู้คนตกงานเป็นจำนวนมากและต้องการประหยัดรายจ่ายทำให้การบริโภคกาแฟลดลง

ขณะที่นายปีเตอร์ ดอร์-สมิทธิ์ เจ้าของร้านกาแฟใจกลางกรุงลอนดอน สะท้อนเสียงจากผู้ประกอบการขนาดเล็กว่าจำนวนลูกค้า ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังไม่ถือเป็นจุดจบของการดื่มกาแฟ เพราะยอดขายได้ขยับขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนยังคงโหยหากาเฟอีน โดยเขาหวังว่าสักวันหนึ่งยอดขายจะกลับมาอีกครั้งแต่อาจจะช้ากว่าที่หวังไว้เท่านั้น

ร้านกาแฟปรับตัว ลูกค้าผันตัวเป็นบาริสต้าจำเป็น

ด้าน John Lewis ห้างค้าปลีกเผยว่าผู้คนผันตัวเป็นบาริสต้าสมัครเล่นกันมากขึ้น เห็นได้จากยอดขายอุปกรณ์การชงกาแฟต่างๆ รวมไปถึงเครื่องบดกาแฟพุ่งสูง เช่นเดียวกับเมล็ดกาแฟและแผ่นกรองที่ยอดขายพุ่งถึงร้อยละ 17 ขณะที่แคปซูลกาแฟยอดขายขยับขึ้นถึง 30 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนล็อกดาวน์

ส่วนคาเฟ่เล็กๆ หลายร้านได้ตั้งโต๊ะขายสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น จนกลายเป็นกึ่งร้านกาแฟ กึ่งร้านสะดวกซื้อ ตอบโจทย์ชีวิตนิวนอร์มอลที่ผู้คนไม่ต้องการเดินทางไปหลายสถานที่ บางส่วนเริ่มตั้งโต๊ะขายอาหารสำเร็จหน้าร้าน เพิ่มรายได้จากการขายเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยทดแทนรายได้ของยอดขายกาแฟหน้าร้านที่หดหาย


นอกจากนี้ยังเริ่มปรับเปลี่ยนขายเมล็ดกาแฟผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าที่ผันตัวเป็นบาริสต้าจำเป็นในยุคโควิดสามารถดื่มด่ำกับรสชาติของกาแฟที่บ้านได้ตามต้องการ ท่ามกลางความหวังของผู้ประกอบการว่าในอนาคตร้านกาแฟจะกลับมาเป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจและเป็นที่พบปะของผู้คนอีกครั้ง.

ผู้เขียน: ปานฝัน

ที่มา: Worldcoffeeportal , Theguardian , Reuters 

อ่านเพิ่มเติม...

Let's block ads! (Why?)



"เป็น" - Google News
September 15, 2020 at 08:00AM
https://ift.tt/33IJE5Z

ร้านกาแฟอยู่ยาก คนเมืองผันตัวเป็นบาริสต้าจำเป็นยุค ศก.ทรุด - ไทยรัฐ
"เป็น" - Google News
https://ift.tt/3eIAhHj
Home To Blog

No comments:

Post a Comment