"ฟังให้ได้ หยุดให้เป็น" และ 5 เคล็ดลับคุยการเมืองกับลูก จากกุมารแพทย์เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน”
ความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปีและทวีความเข้มข้นสูงสุดในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนถึงกับ "ทำอะไรไม่ถูก" และพยายามหาคำแนะนำในการรับมือกับพฤติกรรมของลูก ๆ
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี หรือที่หลายคนรู้จักในนาม "หมอโอ๋" เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกน้องบ้าน" ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 6 แสนคน กลายเป็นที่พึ่งทางความคิดของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต่างหาวิธีที่ดีที่สุดในการสนทนา สื่อสารและดูแลลูกหลาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความสนใจในประเด็นสังคมการเมือง
"การอยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจ มันน่าจะดีกว่าการไปบังคับให้ทำตาม ให้เชื่อฟัง ให้ทำในสิ่งที่เราต้องการ เพราะว่าเรากำลังเลี้ยงชีวิตอีกชีวิตหนึ่งที่ไม่ใช่เรา..การเข้าใจเขาเป็นเรื่องสำคัญ" พญ.จิราภรณ์แนะนำ
บีบีซีไทยสัมภาษณ์พิเศษ พญ.จิราภรณ์ ซึ่งได้สกัด 5 คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ควรทำในสถานการณ์เช่นนี้มาไว้ดังนี้
1.เปิดใจ
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การสนทนาดำเนินต่อไปได้คือการเปิดใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน พ่อแม่ต้องเปิดใจมองให้เห็นถึงพลังและแง่มุมดี ๆ ของการที่เด็กตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ จนนำมาสู่การลงมือปฏิบัติ
2.รับฟัง
เมื่อเปิดใจแล้ว ลำดับถัดมา คือ การรับฟังเพื่อรับรู้ถึงความรู้สึกและความต้องการ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือเมื่อรับฟังแล้ว ต้องหลีกเลี่ยงการตัดสิน ซึ่งมักสะท้อนผ่านคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ เวลาผู้ใหญ่พูดถึงเด็ก เช่น อย่าโง่จนถูกจูงจมูก ถูกล้างสมอง ชังชาติ เป็นต้น
"การรับฟังที่ดีไม่ใช่การรับฟังเพื่อที่จะได้สั่งสอน บอกให้คิดตามเรา แต่เป็นการรับฟังเพื่อที่จะได้เข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้น การที่เข้าลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ มันมีความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเขา...รับฟังความต้องการของเขา เขามีความต้องการบางอย่างที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง อาจจะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นความต้องการธรรมดาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง"
3.ชวนคิด
การรับฟังจะไม่เกิดผลหากไม่ "ชวนคิดต่อ" พญ.จิราภรณ์แนะนำว่า พ่อแม่ควรร่วมคิดวิเคราะห์ไปกับมุมมองของลูก ชวนตั้งคำถามและทำความเข้าใจกับคนที่มีมุมมอง ความเชื่อ และประเด็นที่ให้คุณค่าแตกต่างออกไป
"ชวนให้เขาทำความเข้าใจความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ และคุณค่าที่แตกต่างในสังคม หมอคิดว่าการที่เขาอยู่ในสังคมที่เราสามารถคิดแตกต่างกัน แต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยการเคารพความแตกต่างนั้น เป็นทักษะที่สำคัญมาก ๆ กับการที่เด็กรุ่นใหม่จะเติบโตไป"
4.ให้พื้นที่
สมาชิกในครอบครัวย่อมมีความคิดเห็นที่ต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่ควรเปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กที่ดีที่สุด และเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้พ่อแม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของลูก
"ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นด้วย หรือมองว่ามันไม่ดี เราสามารถช่วยเขาคิดชวนเขาคุย แต่การที่เขาได้ลงมือทำในสิ่งที่เขามีความเชื่อจริง ๆ มันก็เป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งของเด็ก ๆ ซึ่งถ้ามันผิดพลาดเขาก็จะได้เรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่เขาอาจจะตัดสินใจไม่ถูก แต่ว่าการที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำของตัวเองมันเป็นการเรียนที่ช่วยในการเติบโตมาก"
5.ฝึกอยู่กับความแตกต่าง
"หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกอยู่กับความแตกต่าง การที่ลูกกับเราคิดแตกต่างกันจริง ๆ มันเป็นแบบฝึกหัดที่ดีมาก เพราะต่อไปเรากับลูกจะมีเรื่องที่เราคิดแตกต่างกันอีกมหาศาล เราจะมีเรื่องอาชีพที่เรามองกันคนละแบบ เราจะมีเรื่องการคบแฟน คบเพื่อน"
เธอย้ำว่าการทำความเข้าใจและฝึกอยู่กับความแตกต่างเป็นแบบฝึกหัดที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องพร้อมรับ เพราะด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป รูปแบบการเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนแปลงตาม
เข้าใจคือหัวใจ
พญ.จิราภรณ์อธิบายว่า การเลี้ยงลูกไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ต้องเลี้ยงด้วยความเข้าใจเพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จากอดีตคนสมัยก่อนเติบโตมาในสภาพสังคมและข้อจำกัดบางอย่าง อีกทั้งยังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายทำให้มีความขยัน อดทนและรู้จักการรอคอยเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน
ต่างกับเด็กยุคใหม่ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี ที่สามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง เมื่อใดที่เกิดคำถามก็สามารถหาข้อมูลได้อย่างกว้างขวางในเวลาอันสั้น จึงไม่แปลกหากความอดทนจะไม่เท่ากัน
"เขาไม่ได้ผ่านความยากลำบาก เขาก็จะเชื่อในปัจเจก ว่าเราแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เราแต่ละคนมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา แต่ละคนมีสิทธิความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน เขาก็ไม่ได้เชื่อเรื่องของผู้ใหญ่เหนือกว่าเด็ก คนที่มีอำนาจจะต้องทำให้เราเกรงกลัว เขาก็จะอยู่กับความรู้สึกว่าเราควรจะมีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน"
ในสถานการณ์เช่นนี้ โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกท้าทาย เห็นได้จากการแสดงออกของนักเรียนในโรงเรียน ดังนั้นถึงเวลาที่โรงเรียนจะต้องรับฟังสิ่งที่เด็กตั้งคำถาม
"การที่ใครคนใดคนหนึ่งออกกฎโดยไม่สนใจว่าอีกฝั่งจะรู้สึกยังไง...โรงเรียนต้องกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่เด็กตั้งคำถามนั้น เรามีคำตอบให้เขาจริงมั้ย เช่น การตัดผมสั้นเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ยังไง ถ้าเราหาคำตอบที่ดีให้กับเด็ก ๆ ไม่ได้ มันแปลว่าเราต้องกลับมาทบทวนกฎระเบียบที่เราตั้งขึ้นหรือเปล่า"
พญ.จิราภรณ์แนะนำด้วยว่า ในส่วนของเด็ก ๆ ก็ต้องระมัดระวังในการใช้คำพูด เพื่อไม่ให้สิ่งที่ถ่ายทอดออกไปเกิดการบิดเบี้ยว ไม่เช่นนั้นพลังที่ควรจะเกิด อาจบดบังไปด้วยความก้าวร้าวหรือความรุนแรงอื่น ๆ และต้องฝึกศิลปะของการ "หยุด" เพื่อไม่ให้นำไปสู่การทะเลาะกัน
"การคุยกันบางทีมันคุยไม่ได้ เพราะว่าเราตั้งใจอยากจะคุยเพื่อให้อีกคนคิดเหมือนเรา ให้ข้อมูลขนาดนี้แล้วทำไมยังไม่เชื่อเหมือนเรา ไม่คิดเหมือนเรา ทำให้เราคุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วจบที่ทะเลาะกัน...เราควรจะฝึกคุยกันให้เป็น ฝึกคุยกันเพื่อจะรับฟังความรู้สึกและความต้องการของกันและกัน ฝึกแชร์ข้อมูลในฝั่งที่เราได้มาหรือเรารู้ ฝึกแชร์ความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา คุณค่าที่เราให้ โดยที่ไม่หวังว่าอีกฝั่งจะต้องคิดไม่ได้" คุณหมอทิ้งท้าย
"เป็น" - Google News
September 15, 2020 at 07:24PM
https://ift.tt/32ypxYF
"ฟังให้ได้ หยุดให้เป็น" และ 5 เคล็ดลับคุยการเมืองกับลูก จากกุมารแพทย์เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” - บีบีซีไทย
"เป็น" - Google News
https://ift.tt/3eIAhHj
Home To Blog
No comments:
Post a Comment